รายละเอียดหลักสูตร
- ปรัชญาของหลักสูตร
สร้างบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถและทักษะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมความปลอดภัย สามารถส่งเสริมสุขภาพคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงานต่อผู้ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทและทุกระดับตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ตลอดจนประชาชนทั่วไปรวมทั้งมีคุณธรรมจริยธรรมและเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพมีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพและมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
- วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
เพื่อผลิตบัณฑิตอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่มีคุณสมบัติ ดังนี้
1) เป็นผู้มีความรู้มีทักษะในวิชาชีพ สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านสาธารณสุขพื้นฐาน ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยวิเคราะห์มองเห็นปัญหาและสามารถแก้ไขปัญหาเพื่อการป้องกันส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพตามบริบทของสถานประกอบการได้
2) เป็นผู้มีความสามารถในการประสานงาน การบริหารงาน มีภาวะผู้นำ และปฏิบัติงานได้ตามบทบาทวิชาชีพ กฎหมาย และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการป้องกันส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ประกอบอาชีพตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
3) เป็นผู้มีความสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยได้
4) เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมจรรยาบรรณวิชาชีพ มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ มีวินัยมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อสังคมเคารพสิทธิของผู้อื่น และมีมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
5) เป็นผู้มีทักษะด้านภาษา การสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถสืบค้นสื่อสารและถ่ายทอดข้อมูลในการปฏิบัติงานการเรียนรู้ด้วยตนเอง การค้นคว้าวิจัยพัฒนางานและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
47,500 บาท
คุณสมบัติที่ผู้เรียนจะได้รับ
บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้สามารถ
-
มีความรู้ และทักษะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ตามมาตรฐานวิชาชีพ
-
สามารถส่งเสริมสุขภาพ คุณภาพชีวิต และความปลอดภัยในการทำงานต่อผู้ประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท และทุกระดับ
-
มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ มีจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
แบ่งเป็นกลุ่มวิชาชีพพื้นฐานและกลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนี้
– กลุ่มวิชาชีพพื้นฐานฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา จุลชีววิทยา กายวิภาคและสรีรวิทยา ชีวเคมี เคมีอินทรีย์ โดยเรียนทั้งทฤษฎีและฝึกปฎิบัติในห้องปฏิบัติการเฉพาะทุกวิชา
– กลุ่มวิชาชีพเฉพาะด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 4 กลุ่มวิชา ดังนี้
1) กลุ่มวิชาด้านวิศวกรรมและการควบคุม มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องสุขศาสตร์อุตสาหกรรม ความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม การจัดการมลพิษอุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสีย อากาศเสีย เสียงและความสั่นสะเทือน การบำบัดกลิ่น
2) กลุ่มวิชาด้านความปลอดภัยและการบริหารความปลอดภัย มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่อง กระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การยศาสตร์สำหรับสิ่งแวดล้อมและการทำงาน วิศวกรรมความปลอดภัยในงานอุตสาหกรรม การประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงในสถานประกอบการ จิตวิทยาอุตสาหกรรม การจัดการเพลิงไหม้ และเหตุฉุกเฉินจากสารเคมี
3) กลุ่มวิชาทางด้านอาชีวอนามัยและสุขศาสตร์อุตสาหกรรม มีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องวิศวกรรมสุขศาสตร์อุตสาหกรรม อาชีวเวชศาสตร์ พิษวิทยาอาชีวอนามัยการเก็บและวิเคราะห์ตัวอย่างในงานอุตสาหกรรม การส่งเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ การปฐมพยาบาล การฝึกประสบการณ์ทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การสัมมนาและวิจัยงานทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
4) กลุ่มวิชาทางด้านการบริหารสาธารณสุขและกฎหมายอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มีเนื้อหาครอบคลุมการบริหารงานสาธารณสุข อนามัยสิ่งแวดล้อม สุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัยทางสาธารณสุข การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กฎหมายอาชีวอนามัยความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม
โอกาสทางอาชีพ
ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยสามารถขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพประจำสถานประกอบการตามที่กฎหมายกำหนดและสามารถประกอบอาชีพในหน่วยงานทั้งภาครัฐรัฐวิสาหกิจเอกชนหรือประกอบอาชีพอิสระดังนี้
1) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพในสถานประกอบการตามที่กฎหมายกำหนด เช่น โรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เหมืองแร่ พลังงาน การก่อสร้าง การขนส่งคมนาคม เป็นต้น
2) นักวิชาการ นักวิจัย ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เช่น องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆ การนิคมอุตสาหกรรม การท่าอากาศยาน การไฟฟ้า การท่าเรือ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
3) พนักงานของรัฐ เช่น พนักงานตรวจความปลอดภัยตามพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานพ.ศ. 2554 พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมพ.ศ. 2562 เป็นต้น
4) ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการ หรือผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัยเช่นวิทยากรฝึกอบรมด้านความปลอดภัยผู้ตรวจประเมินภายนอกระบบการจัดการความปลอดภัย (External Auditors) ผู้ตรวจประเมินและให้คำปรึกษาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทํางานผู้ตรวจรับรองสภาพแวดล้อมในการทำงานนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมพนักงานขายเครื่องมือทางด้านสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย ผู้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัยระดับปฏิบัติการ เป็นต้น