รายละเอียดหลักสูตร
ปรัชญาของหลักสูตรมุ่งมั่นการจัดการศึกษาเพื่อผลิตนักสาธารณสุข ให้มีความรู้ ความสามารถ ควบคู่ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สามารถมองเห็นปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นและชุมชนอย่างแท้จริง ประยุกต์นวัตกรรมด้านสุขภาพในการปฏิบัติงานด้านสุขภาพอนามัยให้บรรลุเป้าหมาย เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมสุขภาพเพื่อเป็นกลยุทธ์แห่งความรู้สู่วิชาชีพที่ดีมีคุณภาพมาตรฐาน
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1. ผลิตบัณฑิตมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะตามมาตรฐานวิชาชีพ และตรงตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิต
2. ผลิตบัณฑิตที่มีความรับผิดชอบ มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกในการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาสังคมและมีจรรยาบรรณวิชาชีพสาธารณสุข
3. ผลิตบัณฑิตที่สามารถปรับตัวตามความก้าวหน้าและประยุกต์ใช้ความรู้ทางนวัตกรรมสุขภาพด้านสาธารณสุขร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
4. ผลิตบัณฑิตที่สามารถวางแผนและประเมินผลงานด้านสาธารณสุข วินิจฉัยและมองเห็นปัญหาของชุมชนสามารถแก้ปัญหาเพื่อพัฒนาสุขภาพชุมชนได้
5. ผลิตบัณฑิตที่มีความคิดเชิงระบบ มีทักษะการสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมไปถึงนวัตกรรมด้านสุขภาพอย่างเหมาะสมและรู้เท่าทัน
47,500 บาท
คุณสมบัติที่ผู้เรียนจะได้รับ
คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพได้ออกแบบพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์บัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะในการปฏิบัติงานในวิชาชีพสาธารณสุข มีคุณธรรม จริยธรรม บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และค่านิยมที่สะท้อนคุณลักษณะของผู้ที่จะต้องทำงานเพื่อพัฒนาสุขภาพอนามัยของประชาชน ครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ และมีเนื้อหาหลักสูตรให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการมาตรฐานการอุดมศึกษา
เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2565 และเพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติเป็นผู้เห็นและสามารถแก้ปัญหา รวมไปถึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นนักสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรมตามมาตรฐานสากล หลักสูตรสาธารณสุขศาสตร์เป็นหลักสูตรบูรณาการอิงทั้งสมรรถนะและเนื้อหา เน้นการเรียนรู้ด้วยตนเองและการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพ
โครงสร้างหลักสูตรมีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการของการใช้บัณฑิตในปัจจุบันและอนาคต การจัดทำหลักสูตร และรายวิชาที่ทันสมัยตามสากล มีการจัดการเรียนการสอนที่ใช้สื่อเทคโนโลยี ในการบริหารจัดการหลักสูตร การเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติการวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และสอดคล้องกับมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน โดยมีเนื้อหาสาระครอบคลุมการสาธารณสุขที่มีสมรรถนะตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556
โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่มวิชา ในแต่ละกลุ่มมีจำนวนหน่วยกิต มากกว่า 10 หน่วยกิต และมีเนื้อหาครอบคลุม ดังนี้
1) กลุ่มส่งเสริมสุขภาพและอนามัยชุมชน
มีเนื้อหาครอบคลุม แนวคิดและทฤษฎีทางด้านการส่งเสริมสุขภาพและพฤติกรรมศาสตร์ สุขศึกษา การสื่อสารสุขภาพ การให้คำปรึกษา การมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (การวิเคราะห์ปัจจัยกำหนดสุขภาพ การวางแผนและประเมินผล) การพัฒนาทักษะชีวิต การจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ การชี้นำ สุขภาพจิตชุมชน แนวคิดเกี่ยวกับระบบสุขภาพชุมชน อนามัยชุมชน ปัจจัยกำหนดสุขภาพ การวิเคราะห์สถานการณ์และการวินิจฉัยสุขภาพชุมชน การจัดลำดับความสาคัญของปัญหา การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน เทคนิคการทำงานในชุมชน การวางแผนโครงการสุขภาพ การปฏิบัติตามแผนการติดตามและการประเมินผลอนามัยชุมชน
2) กลุ่มป้องกันโรค ควบคุมโรค ระบาดวิทยา
สถิติและการวิจัยทางด้านสาธารณสุขมีเนื้อหาครอบคลุม โรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอุบัติซ้ำและโรคอุบัติใหม่ อุบัติเหตุ การบาดเจ็บ การเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค และปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภาวะคุกคามด้านสุขภาพ หลักสถิติเบื้องต้น การเก็บรวบรวมข้อมูล ความน่าจะเป็น การแจกแจงค่าสถิติของตัวอย่าง การประมาณค่า การทดสอบสมมติฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวน การคำนวณขนาดตัวอย่าง สถิติชีพ ดัชนีอนามัย กระบวนการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย การเขียนรายงานวิจัย และการนำเสนอผลงานวิจัย ระบาดวิทยา ธรรมชาติการเกิดโรคการวัดทางระบาดวิทยา รูปแบบการศึกษาทางระบาดวิทยา การกระจายของโรค การเฝ้าระวังโรค การสอบสวนโรค การคัดกรองโรค และการวินิจฉัยชุมชน การจัดการภัยพิบัติ
3) กลุ่มตรวจประเมิน การบำบัดโรคเบื้องต้น
การดูแลช่วยเหลือฟื้นฟูสภาพ และการส่งต่อ มีเนื้อหาครอบคลุม การตรวจประเมินสุขภาพ การบำบัดโรคเบื้องต้น การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การวางแผนครอบครัว การปฏิบัติหัตถการที่จำเป็นเร่งด่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ความพิการและทุพลภาพ การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ การส่งต่อและการฟื้นฟูสุขภาพ และการฝึกปฏิบัติตามขอบเขตพระราชบัญญัติวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนกำหนด
4) กลุ่มอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม
มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้พื้นฐานงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมในการทำงานและผลกระทบต่อสุขภาพ อุบัติเหตุและโรคที่เกิดจากการทำงาน การยศาสตร์ หลักการป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพภัยทางสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพ การควบคุมและป้องกันทางอาชีวอนามัยและความปลอดภัย หน่วยงาน องค์กร มาตรฐานกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดการน้ำสะอาด การบำบัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูล การจัดการมูลฝอย และของเสียอันตราย การควบคุมมลพิษทางอากาศ เสียงและความสั่นสะเทือน การสุขาภิบาลอาหาร การสุขาภิบาลอาคารสาธารณะ การควบคุมสัตว์พาหะนำโรค การจัดการเหตุรำคาญ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
5) กลุ่มบริหารสาธารณสุขและกฎหมายสาธารณสุข
มีเนื้อหาครอบคลุม การสาธารณสุขทั่วไป การจัดการระบบสุขภาพ การบริหารงานสาธารณสุข หลักประกันสุขภาพ การบริหารทรัพยากรด้านสุขภาพเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข การวางแผนและนโยบายด้านสุขภาพ การประเมินผลการดำเนินงานด้านสาธารณสุข การพัฒนาคุณภาพงานสาธารณสุข การวางแผนยุทธศาสตร์ทางสาธารณสุข การจัดการระบบสารสนเทศและการสื่อสารด้านสาธารณสุข การจัดการปัญญาประดิษฐ์ในงานสุขภาพ มาตรฐานการประกอบวิชาชีพ จรรยาบรรณวิชาชีพ ความรับผิดชอบต่อวิชาชีพและสังคม กฎหมายสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการประกอบวิชาชีพ กฎหมายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการและการปกครองที่เกี่ยวข้องทั้งนี้เพื่อให้บัณฑิตสามารถดำเนินงานการป้องกัน การส่งเสริม การดูแล และการพื้นฟูสุขภาพประชาชนให้มีสุขภาพดีได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการแก้ไข พัฒนางานสาธารณสุขประเทศไทยตามแผนพัฒนากำลังคนของประเทศไทยได้ เพื่อผลิตบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการสาธารณสุข เข้าไปพัฒนาท้องถิ่น ชุมชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน หรือ อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย เพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญตัวหนึ่งร่วมกันขับเคลื่อนประชาชนประเทศไทยให้เป็นบุคคลที่มีสุขภาพดี รู้จักภาวะสุขภาพตนเอง รู้เนื้อหา หลักการ และวิธีการในการดูแลสุขภาพตนเองแบบพึ่งพาตนเอง
โอกาสทางอาชีพ
บัณฑิตที่จบการศึกษาทางด้านสาธารณสุขศาสตร์ สามารถปฏิบัติงานเป็นนักสาธารณสุข ได้ทั้งในหน่วยงานของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานในกำกับรัฐบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และเอกชน อาทิเช่น
1) นักวิชาการ นักวิจัยด้านสาธารณสุข ด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในหน่วยงานเอกชน และรัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาล คลินิคกเวชกรรม บริษัทต่างๆ เป็นต้น
2) พนักงานของรัฐ เช่น นักวิชาการสาธารณสุข/นักสาธารณสุข สังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นองค์การบริหารส่วนตำบล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
3) อาจารย์ นักวิจัย ทางด้านสาธารณสุข ในมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ศูนย์ค้นคว้าวิจัยทางการแพทย์ ทั้งของรัฐบาล และเอกชน
4) ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการ หรือผู้ปฏิบัติงานเฉพาะทางอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข เช่น ฝึกอบรมด้านส่งเสริมสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาชุมชน เป็นต้น